16 มิถุนายน 2552

09-06-08 รถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญา 1 ฉลุย


รถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญา 1 ฉลุย ผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่ เริ่มงาน 1 ก.ค.นี้

บอร์ด รฟม.เห็นชอบผลเจรจาลดค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ สัญญาที่ 1 เหลือ 14,842 ล้านบาท เปิดซองราคาสัญญาที่ 2 มิ.ย.นี้ “บิ๊กทางหลวง” การันตีคุณภาพคับแก้ว พร้อมเห็นชอบค่าตอบแทน “ชูเกียรติ โพธยานุวัตร์” ผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่ เดือนละ 3.4 แสนบาท คาดเริ่มงานได้ 1 ก.ค.นี้

มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เห็นชอบผลการเจรจากับกลุ่ม CKTC Joint Venture ที่ได้มีการต่อรองราคาค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 1 ครั้งล่าสุดลงมาเหลือ 14,842 ล้านบาท และคาดว่า จะมีการเปิดซองราคาสัญญา 2 ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2552 นี้

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะประธานคณะกรรมการ รฟม.เปิดเผยภายหลังการประชุม โดยระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.เห็นชอบให้ลดราคาค่าก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับสายตะวันออก ช่วงจากเตาปูน-พระนั่งเกล้า ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาก่อสร้างสัญญาที่ 1 ได้ต่อรองกับกลุ่ม CKTC Joint Venture ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท โตคิว คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลในโครงการดังกล่าว มาเจรจาเพื่อต่อรองลดค่าก่อสร้าง ซึ่งสรุปว่า กลุ่ม CKTC ยอมลดเหลือ 14,842 ล้านบาท จากเดิม 14,965 ล้านบาท โดยเป็นราคาค่าก่อสร้างที่แท้จริง 14,242 ล้านบาท และสำรอง 600 ล้านบาท ทั้งนี้ ยืนยันว่าการลดราคาค่าก่อสร้างคุณภาพงานก่อสร้างยังเหมือนเดิมโดยไม่มีการปรับลดปริมาณงานลง

“วงเงินที่ต่อรองได้ดังกล่าว แยกเป็นค่าก่อสร้าง หรืองานโยธา จำนวน 14,242 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 600 ล้านบาท โดยส่วนค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดจะจ่ายตามจริง ซึ่งจะจ่ายขั้นต่ำ 50 ล้านบาท ทั้งนี้จะมีการรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป”

ก่อนหน้านี้ รฟม.ได้มีการเจรจาต่อรองค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญาที่ 1 กับกลุ่ม CKTC Joint Venture ลงมาที่ 14,965 ล้านบาท ดังนั้น ผลการเจรจาต่อรองราคาครั้งล่าสุดจึงปรับลดลงมาประมาณ 123 ล้านบาท สำหรับขั้นตอนต่อไป รฟม.จะเสนอขอเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ก่อนเสนอ ครม.พิจาณาอนุมัติและเซ็นสัญญาก่อสร้างได้ทันที

นอกจากนี้ คณะกรรมการ รฟม.ยังเห็นชอบค่าตอบแทนของ นายชูเกียรติ โพธยานุวัตร์ รองผู้ว่าการ รฟม.ที่ได้รับการสรรหาเป็นผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่ แทน นายประภัสร์ จงสงวน เป็นจำนวนเงิน 340,000 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าวงเงินว่าจ้าง นายประภัสร์ อดีตผู้ว่าการ รฟม. เนื่องจากในแผนการทำงานโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้านั้น ผู้ว่าการคนใหม่ไม่ต้องรับผิดชอบในการเจรจาต่อรองเรื่องสัญญาเงินกู้ จากนั้นจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เห็นชอบ ก่อนเสนอต่อที่ประชุม ครม.อนุมัติ ซึ่งคาดว่า นายชูเกียรติ จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ประมาณวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 นี้ เป็นต้นไป


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://mybuilt.blogspot.com/

09-06-08 กทม.เดินหน้าถอนป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย

กทม.เดินหน้าถอนป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย

นายประกอบ จิรกิติ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาป้ายโฆษณาในพื้นที่ กทม. ว่า ขณะนี้ กทม.ได้กวดขันและตรวจสอบป้ายโฆษณาที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกราย ส่วนป้ายผิดกฎหมายทั้งหมดอยู่ระหว่างรื้อถอนของสำนักงานเขต ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาป้ายโฆษณาของ กทม. ได้เสนอให้ออกกฎกระทรวงเรื่องป้ายโดยเฉพาะ โดยเพิ่มแรงลมในการออกแบบโครงสร้างอาคารประเภทป้าย ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ประกอบกับขณะนี้ได้มีกฎกระทรวง เรื่อง การตรวจสอบอาคาร ซึ่งป้ายเป็นอาคารประเภทหนึ่งที่เจ้าของป้ายจะต้องจัดให้มีการตรวจสอบด้านความมั่นคงแข็งแรง ทำให้อาคารประเภทป้ายต้องมีการตรวจสอบทุกปี นอกจากนั้นป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมาย กทม.ก็ได้มีการดำเนินคดีและออกคำสั่งต่างๆ ตามกฎหมายควบคุมอาคาร รวมทั้งคำสั่งห้ามใช้ป้าย ซึ่งการห้ามใช้ป้ายนั้นจะห้ามผู้ลงโฆษณาด้วย โดยหากยังฝ่าฝืนลงโฆษณาบนป้ายที่ผิดกฎหมาย ผู้ลงโฆษณาก็จะมีความผิดตามกฎหมายควบคุมอาคารด้วย ตามมาตรา 67 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ฝ่าฝืนยังต้องโทษปรับอีกวันละไม่เกินสามหมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป
ด้านนายทรงศักดิ์ นุชประยูร ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร เปิดเผยว่า สำหรับข้อมูลป้ายที่สำนักงานเขตจะต้องดำเนินการรื้อถอนตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวน 272 ป้าย ในจำนวนนี้รื้อถอนแล้ว 154 ป้าย อยู่ระหว่างรื้อถอน 107 ป้าย ที่เหลือได้รับการยืนยันว่าสร้างก่อนปี 33 ซึ่งเป็นป้ายที่ไม่ต้องขออนุญาต ถือว่าถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จำนวน 11 ป้าย นอกจากนั้นจากการรายงานของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต มีจำนวนป้ายโฆษณาในพื้นที่ทั้งหมด 1,032 ป้าย ในจำนวนนี้ถูกต้องตามกฎหมาย 836 ป้าย ก่อสร้างผิดแบบที่ขออนุญาต 36 ป้าย และก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต 160 ป้าย

from เนชั่นทันข่าว8 มิย. 2552 19:15 น.

09-03-22 รองผู้ว่าฯ ปากน้ำตรวจอาคารถล่ม

รองผู้ว่าฯ ปากน้ำตรวจอาคารถล่ม ประสาน ปภ.เขต 8 รื้อซากปรักหักพัง

จากกรณีเหตุอาคารถล่มทับบ้านพักคนงาน กระทั่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 18 คน เป็นเด็ก 5 คน เหตุเกิดภายใน ซ.ศรีบุญเรือง ถ.เทพารักษ์ ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
นายสุรชัย ขันอาสา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยภายหลังเดินทางมาดูที่เกิดเหตุว่า ได้กำชับให้เทศบาล ต.สำโรงเหนือ เจ้าของพื้นที่ตรวจสอบว่า อาคารดังกล่าวขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ พร้อมกับกันพื้นที่ ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องห้ามเข้าพื้นที่ ทั้งนี้ ยังได้ประสานกับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 8 จ.ปราจีนบุรี นำเครื่องจักรกลหนักมาทำการรื้อซากปรักหักพัง และอาคาร เนื่องจากเห็นว่าไม่ปลอดภัย เพราะบางส่วนของอาคารอาจถล่มเพิ่ม

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์22 มีนาคม 2552 15:38 น.
http://mybuilt.blogspot.com